พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๒๐


พระพุทธชินราช วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งสมาธิราบ จำลองแบบจากพระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก วัสดุสัมฤทธิ์ มีขนาดหน้าตัก ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว สูง ๗ ศอก น้ำหนักทองที่ใช้หล่อ ๓,๙๔๐ ชั่ง ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ

ตามตำนานเล่าว่า เมื่อรัชกาลที่ ๕ สถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พ.ศ. ๒๔๔๒ สั่งให้ออกแบบพระอุโบสถตกแต่งไว้ด้วยหินอ่อนงดงามวิจิตร จำเป็นต้องแสวงหาพระประธานที่มีความทัดเทียมกัน

ท่านระลึกได้ว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๙ ขณะบรรพชาเป็นสามเณรได้เดินทางตามรัชกาลที่ ๔ ไปนมัสการพระพุทธชินราชซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่งดงามไม่มีที่เปรียบ แต่การจะอัญเชิญลงมา ย่อมไม่สมควร ด้วยเป็นสิริของชาวพิษณุโลก จึงมีดำริให้หล่อขึ้นใหม่

รัชกาลที่ ๕ จึงสั่งให้พระประสิทธิปฏิมา (ม.ร.ว.เหมาะ ดวงจักร) จางวางช่างหล่อขวา ซึ่งเป็นช่างหล่อฝีมือดีที่สุด ขึ้นไปปั้นหุ่นถ่ายแบบจากพระพุทธชินราชองค์เดิม ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๔๔ อัญเชิญล่องเรือมาคุมองค์และแต่งที่กรมทหารเรือ โดยพระยาชลยุทธโยธิน (Andre du Plessis de Richelieu) ชาวเดนมาร์ก เข้ามารับราชการเป็นทหารเรือ มียศเป็นพลเรือโท ตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ เป็นผู้ควบคุมการแต่งองค์พระ เมื่อเสร็จแล้วเชิญลงเรือมณฑปแห่ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๔๔

เมื่ออัญเชิญพระพุทธชินราชขึ้นประดิษฐานแล้ว ต่อมาถึงปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๒ จึงโปรดเกล้าฯให้จ้าง นายซึรุฮารา (Mr.Tsuruhara) ครูช่างในโรงเรียนวิชาช่างกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาทำการปิดทองจนแล้วเสร็จ จากนั้นจึงให้จัดงานสมโภช ในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๕๓

พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย มีเรือนแก้ว ประทับนั่งเหนือรัตนบัลลังก์หินอ่อน เรือนแก้วนี้ รัชกาลที่ ๖ ให้ทำถวาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ แต่ช่างทำไม่งาม รัชกาลที่ ๗ จึงให้แก้ไขใหม่สวยงามตามที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น