พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๒๙



พระพุทธไสยาสน์ วัดเศวตฉัตรวรวิหาร คลองสาน กรุงเทพมหานคร

พระพุทธบัณฑูรมูลประดิษฐ์สถิตไสยาสน์ (พระนอน) เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น สร้างประมาณ พ.ศ.๒๓๖๔ อายุราว ๑๙๐ ปี ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ บริเวณลานพระอุโบสถ วัดเศวตฉัตรวรวิหาร แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ถูกสร้างประดิษฐานบนพื้นราบเสมอบริเวณลานพระอุโบสถ และถูกน้ำท่วมทุกปี เนื่องจากวัดตั้งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พระพุทธไสยาสน์ได้รับความเสียหายและชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก

พระราชวิจิตรการ (ภักดิ์ อัตถกาโม) เจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน พร้อมด้วยคณะสงฆ์ ทายก ทายิกา จึงปรารภเหตุนี้กระทำกุศลร่วมกันโดยให้มีการยกฐานพระพุทธไสยาสน์ให้สูงขึ้นประมาณ ๑.๘๐ เมตร และบูรณปฏิสังขรณ์พร้อมสร้างวิหารครอบคราวเดียวกันนี้ โดยใช้งบประมาณทั้งหมด ๑๓ ล้านบาทเศษ

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๐๒๘


หลวงพ่อโบสถ์บน วัดเศวตฉัตร วรวิหาร คลองสาน กรุงเทพมหานคร

พระพุทธสมาธิคุณสุนทรสมา ทานบุราณสุคต หรือที่ชาวบ้านเรียกจนติดปากว่า หลวงพ่อโบสถ์บน วัดเศวตฉัตร เป็นพระพุทธรูปสานด้วยไม้ไผ่ แล้วปั้นด้วยปูนมีอายุเก่าแก่เป็นพระประธานคู่กับพระอุโบสถ

หลวงพ่อโบสถ์บนเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิปูนปั้นลงรักปิดทอง ศิลปกรรมสมัยอยุธยา ขนาดหน้าตัก กว้าง ๒.๓๐ เมตร ไหล่กว้าง ๑.๓๕ เมตร สูงจากฐานถึงพระเศียร ๓.๔๐เมตร ประดิษฐานเป็นพระพุทธปฏิมาประธานในวิหารหลวงพ่อโบสถ์บน

สันนิษฐานว่าสร้างในราวปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่ด้วยความที่เป็นพระพุทธรูปที่มีศรัทธาสาธุชนมาสักการบูชากราบไหว้ ขอพรได้สมความปรารถนา ทำให้มีประชาชนมาสักการบูชาทุกวัน เพราะเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์

วัดเศวตฉัตร เดิมเป็นวัดโบราณปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ไม่ปรากฏหลักฐานว่าใครเป็นผู้สร้าง แต่มีพระอุโบสถเก่าเป็นหลักฐาน ชาวบ้านเรียกกันหลายชื่อ อาทิ วัดแมลงภู่ทอง, วัดบางลำภูใน, วัดกัมพูฉัตร, วัดบางลำภูล่าง

ปูชนียวัตถุสำคัญที่โดดเด่น คือ พระพุทธรูปปางสมาธิ พระนามว่า พระพุทธสมาธิคุณสุนทรสมาทานบุราณสุคต

พระพุทธรูปนาคปรก พระนามว่า "พระพุทธอังคีรสมุนีนารถอุรคอาสน์อำไพ"

พระพุทธรูปปางมารวิชัย พระนามว่า "พระพุทธมารวิชัยอภัยปรปักษ์อัครวิบูล"

พระพุทธไสยาสน์ พระนามว่า "พระ พุทธบัณฑูรมูลประดิษฐสถิตไสยาสน์"

วัดเศวตฉัตร ถือเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๒๗


หลวงพ่อหิน ในพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

หลวงพ่อหินเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ หน้าตักกว้างประมาณ ๕ ศอก มีความเป็นมาดังนี้ คือวัดนี้เป็นวัดเก่าแก่โบราณสร้างในสมัยอยุธยา เดิมเรียกว่าวัดสลัก ครั้นต่อมาเมื่อกรุงศรีอยุธยาถูกตีแตกหนที่ ๒ นายทองมาพร้อมสหายหลบหนีพวกพม่ามาทางเรือ มาพบเรือตรวจลำน้ำของพม่าจึงคว่ำเรือแล้วหลบอยู่บริเวณหน้าวัดสลัก พร้อมตั้งจิตอธิษฐานต่อหน้าหลวงพ่อหิน ขอให้รอดพ้นภัยในคราวนี้ แล้วจะกลับมาบูรณะฟื้นฟูวัด เมื่อเรือพม่าผ่านไปแล้วท่านและสหายได้ไปสมทบกับพระยาตากสิน และร่วมรบกับพระยาตากสินจนสามารถประกาศเอกราชของชาติได้

มาถึง พ.ศ.๒๓๒๖ ในสมัยรัชกาลที่ ๑ นายทองมาซึ่งได้ตำแหน่งเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้สั่งให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์วัดสลักตามที่ได้อธิษฐานต่อหน้าหลวงพ่อหิน พร้อมกับการก่อสร้างพระราชวังบวรสถานมงคล จากนั้นทรงเปลี่ยนชื่อวัดจากวัดสลัก เป็น วัดนิพพานาราม ต่อมาก็เปลี่ยนเป็นชื่อพระวัดพระศรีสรรเพชญ์ และสุดท้ายจึงได้ชื่อวัดพระศรีรัตนมหาธาตุราชวรมหาวิหาร ตามชื่อวัดในกรุงศรีอยุธยา ที่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราช

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๒๖



พระประธานวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร

พระประธานของวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ วัสดุเนื้อทองสำริดลงรักปิดทอง หน้าตักกว้างประมาณ ๔ ศอก ศิลปะสมัยรัตนโกสินทร์ เบื้องพระพักตร์มีรูปพระสาวก ๓ องค์ นั่งประนมมือดุจรับพระพุทธโอวาท

ปีพุทธศักราช ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงแก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้ทรงประกาศอิสรภาพของไทยกลับคืนมาได้ และเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พร้อมกับตั้งพระนครหลวงขึ้นใหม่เรียกว่า กรุงธนบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๓๑๑

พุทธศักราช ๒๓๑๒ หลังจากที่ทรงขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงใฝ่พระทัยเป็นธุระในพระพุทธศาสนา พระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์ ยกวัดบางหว้าใหญ่ซึ่งเดิมเป็นวัดราษฎร์ขึ้นเป็นพระอารามหลวง

พร้อมกับทรงมีพระราชปรารภว่า พระไตรปิฎกคงกระจัดกระจายเสียหายเมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า เพราะพม่าได้เผาบ้านเมืองและวัดวาอารามพินาศลง จึงมีพระราชประสงค์รวบรวมชำระสอบทานพระไตรปิฎกนั้นให้ถูกต้องครบถ้วนตามเดิม และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อให้สมเด็จพระสังฆราช(สี) และพระเถรานุเถระ สังคายนาจนสำเร็จสมบูรณ์ตามพระราชประสงค์ในวัดนี้

ต่อมารัชกาลที่ ๑มีความประสงค์จะปฏิสังขรณ์ปรับปรุงวัดให้มั่นคงสวยงามยิ่งขึ้น จึงสั่งให้สืบถามเรื่องระฆังของวัดบางหว้าใหญ่ ซึ่งเป็นระฆังที่มีเสียงไพเราะยิ่งนัก ซึ่งได้ขุดพบในทางทิศพายัพของพระอุโบสถหลังเก่า เพราะเหตุแห่งการขุดระฆังได้ จึงได้ชื่อตามที่ประชาชนเรียกว่า วัดระฆัง ตั้งแต่นั้นมา


พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๒๕


พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณา อสีตยานุบพิตร
วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร


เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย วัสดุทองแดงปิดทอง หน้าตักกว้าง ๖ ศอก ศิลปะแบบสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานในพระวิหาร วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร

พระพุทธชัมภูนุทมหาบุรุษลักขณา อสีตยานุบพิตร หล่อด้วยทองแดงปิดทองพร้อมกับพระพุทธตรีโลกเชษฐ์ พระประธานในพระ อุโบสถวัดสุทัศนเทพวราราม ภายในพระเศียรบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ๔ องค์ ในพระเกศ ๓ ชั้น เงิน นาก และทอง เบื้องหน้ามีพระ พุทธรูปศิลปะล้านช้าง นามว่าพระอรุณ หรือพระแจ้งประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๒๔


หลวงพ่อโบสถ์น้อย วัดอมรินทรารามวรวิหาร


"หลวงพ่อโบสถ์น้อย" เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์สมัยสุโขทัย ปางมารวิชัย วัสดุทองสำริด หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ๒๒ นิ้ว สูง ๗ ศอก ๒๑ นิ้ว ปัจจุบันประดิษฐานในพระอุโบสถน้อย วัดอมรินทรารามวรวิหาร หลวงพ่อโบสถ์น้อย ไม่ปรากฏหลักฐานความเป็นมาแน่ชัดว่าใครเป็นผู้สร้างและสร้างในสมัยใด

แต่จากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมหลวงพ่อโบสถ์น้อยเป็นพระพุทธรูปที่หล่อด้วยทองสำริด มีขนาดไม่ใหญ่นักแต่จะมีขนาดเท่าใดและเป็นพระพุทธรูปสมัยใดนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด สันนิษฐานว่าหลวงพ่อโบสถ์น้อยคงจะเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านจึงมีความเลื่อมใสศรัทธาและอัญเชิญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ

แต่ด้วยเหตุที่องค์พระพุทธรูปมีขนาดเล็ก ไม่สมกับพระอุโบสถที่มีความกว้างขวางใหญ่โต ดังนั้น ชาวบ้านจึงได้คิดหากลอุบายด้วยการปั้นปูนพอกทับอำพรางองค์จริงของพระพุทธรูปเอาไว้ เพื่อให้มีขนาดที่เหมาะสมกับพระอุโบสถ ซึ่งขณะนั้นมีขนาดยาวถึง ๔ ห้อง

ครั้นต่อมาถึง พ.ศ.๒๔๔๑ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๕ จึงให้ตัดเส้นทางรถไฟสายใต้ เริ่มจากปากคลองบางกอกน้อยไปทางนครปฐม มีผลให้พื้นที่ด้านหน้าวัดอมรินทราราม ตรงปากคลองบางกอกน้อย ถูกตัดตอนเป็นทางรถไฟ วางรางรถไฟเฉียดผ่านพระอุโบสถของวัด จนถึงกับต้องรื้อด้านหน้าของพระอุโบสถออกไปเสียห้องหนึ่ง เหลือเพียง ๓ ห้อง เท่านั้น

ทำให้พระอุโบสถมีขนาดเล็กลง ชาวบ้านจึงเรียกว่า "โบสถ์น้อย" และคงจะเรียกชื่อพระประธานในพระอุโบสถโดยอนุโลมว่า "หลวงพ่อโบสถ์น้อย" ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเรื่องเล่ากันถึงความมหัศจรรย์ของหลวงพ่อโบสถ์น้อยที่ได้แสดงปาฏิหาริย์ให้ประจักษ์แก่ประชาชนโดยทั่วไป กล่าวคือ เมื่อครั้งที่นายช่างฝรั่งมาส่องกล้อง เพื่อดำเนินการตัดทางสำหรับวางรางรถไฟนั้นเมื่อส่องกล้องแล้ว พบว่าเส้นทางนั้นจะต้องถูกพระอุโบสถและองค์พระพุทธรูปพอดี

ในคราวนั้นกล่าวกันว่า ได้เกิดอาเพศเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น จนนายช่างฝรั่งไม่สามารถที่จะตัดเส้นทางให้เป็นแนวตรงได้ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางใหม่เป็นแนวอ้อมโค้งดังปรากฏให้ เห็นในปัจจุบัน

ต่อมาเมื่อเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพาขึ้น เครื่องบินข้าศึกได้มาทิ้งระเบิดเพลิง เพื่อทำลายย่านสถานีรถไฟธนบุรี แต่เนื่องจากสถานีรถไฟกับวัดมีเขตติดต่อกันจึงทำให้ปูชนียวัตถุสถานต่างๆ ภายในวัดอมรินทรารามถูกไฟเผาทำลายเป็นส่วนมาก

แม้แต่พระอุโบสถซึ่งเป็นที่ประดิษฐานหลวงพ่อโบสถ์น้อยก็ได้รับความเสียหายในครั้งนี้ด้วย ดังปรากฏว่ามีหลุมระเบิดอยู่รอบพระอุโบสถ ในส่วนของเชิงชายพระอุโบสถก็ถูกไฟไหม้ แต่ในที่สุดไฟก็ดับได้เองเหมือนปาฏิหาริย์ และจากความรุนแรงของลูกระเบิดที่ตกลงมารอบพระอุโบสถครั้งนี้ เป็นผลให้พระเศียรของหลวงพ่อโบสถ์น้อยที่ปั้นด้วยปูนถึงกับหักพังลงมา ในครั้งนั้นทางวัดได้นำพระเศียรของหลวงพ่อโบสถ์น้อย ไปฝากไว้ยังวัดอรุณราชวรารามเป็นการชั่วคราว

เมื่อสงครามยุติลง วัดอมรินทรารามอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมมาก ทางวัดจึงได้เริ่มดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุสถานต่างๆ ให้กลับมีสภาพดีดังเดิม ส่วนพระอุโบสถหลังเก่าอยู่ในสภาพเสียหายมาก จึงได้ดำเนินการก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้นแทน พ.ศ.๒๕๐๔ พระอุโบสถหลังเก่า ซึ่งเรียกกันว่า "โบสถ์น้อย" ยังคงเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อโบสถ์น้อยดังเดิม

ในส่วนการซ่อมแซมองค์พระพุทธรูป ทางวัดได้อัญเชิญพระเศียรของหลวงพ่อโบสถ์น้อยกลับคืนมา เพื่อหวังที่จะต่อเข้ากับองค์พระพุทธรูป แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าพระเศียรของหลวงพ่อแตกร้าวเป็นส่วนใหญ่ จึงตกลงที่จะปั้นพระเศียรของหลวงพ่อขึ้นใหม่โดยให้คงเค้าพระพักตร์เดิมไว้

เล่ากันว่าครั้งนั้นทางวัดได้เชิญบรรดาท่านผู้เฒ่าในบ้านชางหล่อมาหลายท่าน เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการดำเนิน การปั้นพระเศียรหลวงพ่อขึ้นใหม่ ในที่สุดจึงเห็นควรให้ นายช่างโต ขำเดช เป็นผู้รับผิดชอบในการปั้นพระเศียร เนื่องจากเป็นผู้ที่เคยอุปสมบทในวัดอมรินทรารามมาหลายพรรษา จึงมีความคุ้นเคยในเค้าพระพักตร์หลวงพ่อโบสถ์น้อยมากกว่าผู้ใด

ต่อมาใน พ.ศ.๒๕๒๓ ได้มีการบูรณะหลวงพ่อโบสถ์น้อยขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากองค์พระพุทธรูปมีสภาพชำรุดหลายแห่ง ครั้งนั้นได้ทำการฉาบปูนลงรักปิดทองใหม่หมดทั้งองค์ พร้อมกันนี้ก็ได้บูรณะพระอุโบสถโดยการเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาและซ่อมแซมส่วนต่างๆ ที่ชำรุดทรุดโทรมในคราวเดียวกันเมื่อแล้วเสร็จจึงได้มีการเฉลิมฉลองสมโภช

ประเพณีงานนมัสการหลวงพ่อโบสถ์น้อยประจำปี ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จัดในเดือนเมษายน (ราวกลางเดือน ๕) แต่ในปัจจุบัน กำหนดให้เป็นวันที่ ๒๙ พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันนมัสการประจำปีของหลวงพ่อโบสถ์น้อย เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ว่สำคัญที่หลวงพ่อโบสถ์น้อย ถูกภัยทางอากาศ เมื่อครั้งสงครามโลกครั้งที่ ๒

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๒๓


ภิกษุณีถวายสักการะพระบรมศาสดา วัดเทพธิดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

พระพุทธรูปศิลปะรัตนโกสินทร์ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ประทับนั่งบนฐานชุกชี ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารของวัดเทพธิดาราม ด้านล่างแวดล้อมด้วยรูปปั้นของเหล่าภิกษุณี

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๒๒


หลวงพ่อขาว วัดเทพธิดารามวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

หลวงพ่อขาว เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยเชียงแสนผสมสุโขทัย ปางมารวิชัย ขัดสมาธิเพชร จำหลักด้วยศิลายวงสีขาวบริสุทธิ์ มีความงดงาม พระเพลากว้าง ๑๔ นิ้ว สูง ๑๙ นิ้ว หนา ๘ นิ้ว พระอังสา (ไหล่) ๙ นิ้ว รอบพระอุระ (อก) ๑๘ นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในเวชยันต์บุษบกไม้จำหลักลาย หรือบุศบกท้ายเกริน ปิดทองประดับกระจกเกรียบ ลายประณีตบรรจงมาก

หลวงพ่อขาวไม่ปรากฏประวัติการสร้างหรือที่มา ปรากฏประวัติเพียงว่า ในปี พ.ศ. ๒๓๗๙ รัชกาลที่ ๓ สั่งให้กรมหมื่นภูมินทรภักดี เป็นแม่กองสร้างวัดนี้ขึ้นเพื่อเป็นให้เป็นเกียรติแก่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงวิลาส กรมหมื่นอัปสรสุดาเทพ (บุตรีคนโต)

เมื่อสร้างวัดเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๘๒ จึงได้ถวายนามใหม่ว่า "วัดเทพธิดาราม" ต่อมาในวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๓๘๒ จึงให้อัญเชิญพระพุทธรูปจำหลักด้วยศิลาขาว จากพระบรมมหาราชวังมาเป็นพระปฏิมากรประธาน

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๒๑


พระศรีอาริยเมตไตรย วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม กรุงเทพมหานคร

พระศรีอาริยเมตไตรย หรือ หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปยืน ปางอุ้มบาตร ก่อด้วยอิฐหรือปูน ประดิษฐานอยู่ที่วัดอินทรวิหาร ซึ่งเป็นวัดโบราณ ชื่อวัดบางขุนพรหมนอก อยู่ที่ตำบลบางขุนพรหม อำเภอพระนคร กรุงเทพ ฯ

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) วัดระฆังโฆสิตาราม ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๐ ก่อด้วยอิฐถือปูน หากดำเนินการการก่อสร้างไปได้เพียงครึ่งองค์ สูงเพียงพระนาภี (สะดือ) สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ก็สิ้นชีพิตักษัย

ต่อมา พระครูธรรมานุกูล (ภู จนฺทเกสโร) ซึ่งร่วมสร้างหลวงพ่อโต กับสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํสี) มาแต่ต้น ได้ดำเนินการก่อสร้างต่อมาจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๓ พระครูธรรมานุกูล (ภู จนฺทเกสโร) มีอายุ ๙๑ ปี พรรษาที่ ๗๐ ชราภาพมากแล้ว จึงได้ยกขึ้นเป็นกิตติมศักดิ์ ท่านจึงมอบฉันทะให้ พระครูสังฆบริบาล (แดง) แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ ช่วยบูรณปฏิสังขรณ์ต่อจากเดิม หากดำเนินก่อสร้างสำเร็จเพียงบางส่วนเท่านั้น

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๗ พระครูสังฆรักษ์ (เงิน อินฺทสโร) ภายหลังได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ “พระอินทรสมาจาร” ได้ดำเนินการก่อสร้างจนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ และได้จัดให้มีงานสมโภชเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๔-๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๑

ปัจจุบันมีงานฉลองเป็นเทศกาลประจำปี ระหว่างวันที่ ๑-๗ เมษายน ของทุกปี เทศกาลประจำปีงานนมัสการและปิดทองพระโต หลวงพ่อโต วัดอินทรวิหาร หลวงพ่อโตวัดอินทร์ เป็นประจำทุกปี

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๒๐


พระพุทธชินราช วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย นั่งสมาธิราบ จำลองแบบจากพระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก วัสดุสัมฤทธิ์ มีขนาดหน้าตัก ๕ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว สูง ๗ ศอก น้ำหนักทองที่ใช้หล่อ ๓,๙๔๐ ชั่ง ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพฯ

ตามตำนานเล่าว่า เมื่อรัชกาลที่ ๕ สถาปนาวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม พ.ศ. ๒๔๔๒ สั่งให้ออกแบบพระอุโบสถตกแต่งไว้ด้วยหินอ่อนงดงามวิจิตร จำเป็นต้องแสวงหาพระประธานที่มีความทัดเทียมกัน

ท่านระลึกได้ว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๙ ขณะบรรพชาเป็นสามเณรได้เดินทางตามรัชกาลที่ ๔ ไปนมัสการพระพุทธชินราชซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่งดงามไม่มีที่เปรียบ แต่การจะอัญเชิญลงมา ย่อมไม่สมควร ด้วยเป็นสิริของชาวพิษณุโลก จึงมีดำริให้หล่อขึ้นใหม่

รัชกาลที่ ๕ จึงสั่งให้พระประสิทธิปฏิมา (ม.ร.ว.เหมาะ ดวงจักร) จางวางช่างหล่อขวา ซึ่งเป็นช่างหล่อฝีมือดีที่สุด ขึ้นไปปั้นหุ่นถ่ายแบบจากพระพุทธชินราชองค์เดิม ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๔๔๔ อัญเชิญล่องเรือมาคุมองค์และแต่งที่กรมทหารเรือ โดยพระยาชลยุทธโยธิน (Andre du Plessis de Richelieu) ชาวเดนมาร์ก เข้ามารับราชการเป็นทหารเรือ มียศเป็นพลเรือโท ตำแหน่งผู้บัญชาการกรมทหารเรือ เป็นผู้ควบคุมการแต่งองค์พระ เมื่อเสร็จแล้วเชิญลงเรือมณฑปแห่ไปประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร เมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๔๔๔

เมื่ออัญเชิญพระพุทธชินราชขึ้นประดิษฐานแล้ว ต่อมาถึงปลายปี พ.ศ. ๒๔๕๒ จึงโปรดเกล้าฯให้จ้าง นายซึรุฮารา (Mr.Tsuruhara) ครูช่างในโรงเรียนวิชาช่างกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เข้ามาทำการปิดทองจนแล้วเสร็จ จากนั้นจึงให้จัดงานสมโภช ในวันที่ ๕ สิงหาคม ๒๔๕๓

พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย มีเรือนแก้ว ประทับนั่งเหนือรัตนบัลลังก์หินอ่อน เรือนแก้วนี้ รัชกาลที่ ๖ ให้ทำถวาย เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๕ แต่ช่างทำไม่งาม รัชกาลที่ ๗ จึงให้แก้ไขใหม่สวยงามตามที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๑๙



พระพุทธมหาราช วัดราชบุรณราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ประทับในซุ้มเรือนแก้ว ประดิษฐานเป็นพระประธานในวัดราชบุรณะราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

วัดราชบุรณะเป็นวัดเก่าแก่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า “วัดเลียบ” เป็นวัดมหานิกายมีฐานะเป็นวัดราษฎร์ ได้เริ่มสร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย

จนมาถึงปัจจุบันสมัยรัตนโกสินทร์เมื่อรัชกาลที่ ๑ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์ เห็นวัดเลียบอยู่ในสภาพที่กำลังทรุดโทรมมากจึงบูรณะปฏิสังขรณ์ทั้งพระอาราม และขออนุญาตสถาปนาวัดเลียบเป็นพระอารามหลวง

ในการปฏิสังขรณ์วัดเลียบสมัยนั้น รัชกาลที่ ๑ ได้ถวายนามให้วัดใหม่ว่า “วัดราชบุรณะราชวรวิหาร” ตามนามวัดราชบูรณะ ซึ่งเป็นวัดคู่เมืองราชธานีตลอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๑๘


พระร่วงทองคำ วัดมหรรณพารามวรวิหาร แขวงเสาชิงช้า กรุงเทพมหานคร

หลวงพ่อพระร่วงทองคำ เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารหลวง วัดมหรรณพารามวรวิหาร องค์พระเป็นโลหะทองคำ (๖๐ เปอร์เซนต์) เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะแบบสุโขทัย ขนาดหน้าตัก กว้าง ๑ วา ๑ ศอก ๑ คืบ ๕ นิ้ว สูง ๑ วา ๓ ศอก ๑ คืบ ๗ นิ้ว องค์พระเป็นโลหะทองคำ มีรอยต่อ ๙ แห่งโดยมีหมุดเป็นเครื่องเชื่อมที่รอยต่อ

ชุกชีที่ประดิษฐานยาว ๒ วา ๑ ศอก ๗ นิ้ว กว้าง ๒ วา ๒ ศอก ถัดจากฐานขึ้นไปเรียกว่า บัลลังก์ ทำเป็นลายดอกบัวคว่ำบังหงาย และดอกไม้เครือกระจังลงรักปิดทอง ประดับด้วยกระจกสีต่าง ๆ ซึ่งเป็นเครื่องหมายถึงความเจริญก้าวหน้า เป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามมากองค์หนึ่งในประเทศไทย

พระร่วงทองคำ เป็นพระพุทธรูป ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย เดิมประดิษฐานอยู่ ณ วัดโคกสิงคาราม อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย สร้างในรัชสมัยใดไม่ปรากฏ แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นอุดมรัตนรังสี (พระองค์เจ้าอรรณพ) โอรสในรัชกาลที่ ๓ ได้สร้างวัดมหรรณพารามขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๓ เพื่อถวายเป็นกุศลแด่บิดา

ในขณะทำดำเนินการก่อสร้างวัด เป็นระยะเวลาที่รัชกาลที่ ๓ ป่วยใกล้จะสิ้นชีวิต พระองค์เจ้าอรรณพจึงเร่งรัดให้มีการจัดงานเฉลิมฉลองวัด รวมทั้งอัญเชิญพระประธานคือ "หลวงพ่อร่วง" จากเมืองสุโขทัยมาประดิษฐานที่วัดราชประดิษฐ์ฯ ให้ทันก่อนรัชกาลที่ ๓ สิ้นชีวิต

แต่การอัญเชิญหลวงพ่อร่วงจากสุโขทัยไม่สามารถดำเนินการได้ลุล่วงตามความประสงค์ จึงให้อัญเชิญพระพุทธรูปปูนปั้นในพระอุโบสถมาเป็นพระประธานแทนไปก่อน ถัดจากนั้นอีก ๓ เดือน เมื่อเตรียมการทุกอย่างพร้อมสรรพจึงได้อัญเชิญหลวงพ่อร่วง มาประดิษฐานเป็นพระประธานภายในพระวิหารได้สำเร็จดังที่ตั้งใจไว้แต่เดิม


พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๑๗

พระพุทธสิหังคปฏิมากร วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร

ในปี พ.ศ.๒๓๓๘ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (ทองมา) น้องชายรัชกาลที่ ๑ ดำริให้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์จากเมืองเชียงใหม่มาไว้ในพระที่นั่งพุทไธศวรรย์ พระบวรราชวัง

ต่อมารัชกาลที่ ๔ ได้เลื่อมใสพระพระพุทธสิหิงค์มาก เมื่อได้สร้างวัดราชประดิษฐ์เสร็จ จึงประสงค์จะอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ไปตั้งเป็นพระพุทธรูปประธาน แต่ภายหลังก็คิดได้ว่า พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานอยู่บนพระที่นั่งในพระราชวัง (หน้า) แล้ว ไม่ควรเชิญไปไว้ที่วัด

จึงสั่งให้ถ่ายแบบจากองค์พุทธสิหิงค์ แล้วให้หล่อขึ้นมาใหม่ แต่กะไหล่ทองมีขนาดใหญ่กว่าพระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์ ถวายพระนามว่า "พระพุทธสิหังคปฏิมากร"

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๑๖


พระศรีสักยมุนี วิหารหลวงวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ กรุงเทพมหานคร

พระศรีสักยมุนี (หลวงพ่อโต) ประดิษฐานในวิหารหลวงวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปที่มีขนาดใหญ่องค์หนึ่ง (ไม่มีรายละเอียดขนาดหน้าตัก และความเป็นมา) สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๑๕




พระศรีสรรเพชญ์ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ กรุงเทพมหานคร

เป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ ขนาดหน้าตักกว้าง ๕.๑๖ เมตร วัสดุก่ออิฐถือปูนลงรักปิดทอง ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ กรุงเทพมหานคร

พระพุทธรูปองค์นี้ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท(ทองมา)น้องชายในรัชกาลที่ ๑ ให้เคารพศรัทธาสูงสุด โดยมีที่มาดังนี้ คือ ครั้งหนึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทได้เคยตั้งสัตยาธิษฐาน ขอบารมีให้ช่วยคุ้มครองจากข้าศึกในระหว่างทรงร่วมกอบกู้ชาติบ้านเมือง เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒

ต่อมาจึงได้ให้พระยาเทวารังสรรค์ ช่างวังหน้าเป็นผู้ปั้น พระศรีสรรเพชญ์ ขึ้น เพื่อประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถวัด ซึ่งขณะนั้นเรียกชื่อว่าวัดพระศรีสรรเพชญ์ (ในระหว่างปี พ.ศ.๒๓๓๑-๒๓๔๖ ซึ่งเป็นยุคต้นของรัตนโกสินทร์)

พร้อมกับการปฏิสังขรณ์สิ่งก่อสร้างอื่นๆ ทั่วทั้งพระอาราม ในครั้งนั้นนามของพระประธาน จึงอนุโลมตามชื่อวัดไปด้วย

มีเรื่องราวบันทึกต่อไปว่า เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทขณะกำลังใกล้สิ้นชีวิต ได้ขึ้นเสลี่ยงไปที่วัดมหาธาตุฯ เพื่อนมัสการพระประธานในพระอุโบสถ ได้ยกมือขึ้นจบอุทิศถวายดาบให้ทำเป็นราวเทียน และให้จุดเทียนเรียงติดไว้ที่ดาบเพื่อเป็นพุทธบูชา

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๘๗ วัดชำรุดทรุดโทรมมาก รัชกาลที่ ๓ จึงให้ปฏิสังขรณ์ทั่วทั้งพระอาราม ให้เสริมส่วนสูงพระอุโบสถเพิ่มขึ้น ๑ ศอก

ในการนี้ พระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งเป็นพระประธานได้รับการเสริมสร้างให้ใหญ่ขึ้นตามพระอุโบสถ โดยพระยาชำนิรจนาเป็นผู้ปั้น ในเวลาต่อมาองค์พระได้รับการปิดทองใหม่อีก ๒ ครั้ง คือใน พ.ศ.๒๔๔๕ เกิดอสุนีบาตพระอุโบสถด้านตะวันตก พระประธานต้องสายฟ้าดำไปทั้งองค์ และอีกครั้งหนึ่งใน พ.ศ.๒๔๖๗

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๑๔


พระพุทธนรสีห์ตรีโลกเชษฐ์ มเหทธิศักดิ์ ปูชนียะชยันตะโคดม บรมศาสดา
อนาวรญาณ
วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะรัตนโกสินทร์ วัสดุปูนปั้นบุดีบุกลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง ๒.๕ เมตร สูง ๓.๕ เมตร ประดิษฐานในพระอุโบสถ วัดชนะสงคราม

พระพุทธรูปนี้กล่าวกันว่า ภายในองค์พระมีเสื้อลายยันต์ของสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (ทองมา) และเสื้อผ้ายันต์ของเหล่านายทัพนายกองทหารของพระองค์ เมื่อคราวมีชัยในการสงคราม ซึ่งสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทให้ช่างปั้นพระเอาปูนพอกไว้ด้วย ก่อนการบุดีบุกการนี้ทำให้ พระประธานองค์นี้มีขนาดใหญ่โตกว่าเดิมก่อนการปฏิสังขรณ์

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๑๓




พระพุทธอังคีรส วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร


"พระพุทธอังคีรส"เป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๕ ปางสมาธิ ขัดสมาธิราบ ทรงผ้ามีกลีบ วัสดุกะไหล่ทองเนื้อแปด สำริด ขนาดหน้าตักกว้าง ๒ ศอกคืบ หรือ ๖๐ นิ้ว น้ำหนัก ๑๐๘ บาท พระฉวี วรรณเป็นทองคำทั้งองค์

สิ่งก่อสร้าง พระอุโบสถ พระวิหาร พระเจดีย์ ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบเบญจรงค์งดงามมาก มีมหาสีมารอบกำแพงวัด รัชกาลที่ ๕ ดำริให้สร้างพระพุทธอังคีรสเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถ

พระพุทธอังคีรส เป็นพระนามของพระพุทธ เจ้าพระนามหนึ่ง แปลว่า มีพระรัศมีออกจากพระกาย องค์พระกะไหล่ทองคำทั้งองค์ หนัก ๑๐๘บาทประดิษฐานบนแท่นชุกชีหินอ่อนที่สั่งมาจากอิตาลี

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๑๒


พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ วัดสุทัศเทพวราราม กรุงเทพมหานคร

พระพุทธตรีโลกเชษฐ์ เป็นพระพุทธรูปสมัยรัตนโกสินทร์ ปางมารวิชัย วัสดุโลหะ หน้าตักกว้าง ๓ วา ๑๗ นิ้ว สูง ๔ วา ๑๘ นิ้ว ปัจจุบัน ประดิษฐานเป็นพระประธานในพระอุโบสถ วัดสุทัศนเทพวราราม

พระอุโบสถเริ่มก่อสร้างใน พ.ศ. ๒๓๗๗ ตรงกับรัชกาลที่ ๓ มีพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา ต่อมาคือพระยา พิชัยญาติ(ทัต บุนนาค) เป็นแม่กองงาน พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระพิทักษ์เทเวศร์เป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างเป็นพระอุโบสถที่มีความยาวที่สุดในไทย ผนังภายในเขียนภาพจิตรกรรมฝีมือช่างสมัยรัชกาลที่ ๓

เมื่อสถาปนาพระอารามแล้ว กรมหมื่นณรงคหริรักษ์ได้สร้างพระพุทธประธานเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุดในบรรดาที่สร้างขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์ โปรดอัญเชิญพระศรีศาสดาซึ่งอยู่บนฐานเดิมไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปหล่อใหม่ขึ้นประดิษฐานแทน

รัชกาลที่ ๔ ถวายพระนามว่า "พระพุทธตรีโลกเชษฐ์" และ พ.ศ. ๒๔๐๗ โปรดสร้างพระอสีติมหาสาวกจำนวน ๘๐ องค์ สร้างด้วยปูนปั้นลงสี นั่งพนมมือฟังพระ บรมพุทโธวาทเบื้องพระพักตร์องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า รอบพระอุโบสถมีซุ้มสีมาทรงมณฑปเจดีย์ตั้งอยู่บนกำแพงแก้ว ๘ ซุ้ม

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๑๑


พระศรีศากยมุนี วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร

พระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัยปางมารวิชัย วัสดุโลหะลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง ๓ วา ๑ คืบ สูง ๔ วา ปัจจุบันประดิษฐานเป็นพระประธานในอุโบสถวัดสุทัศนเทพวาราม ราชวรมหาวิหาร

เดิมพระพุทธรูปองค์นี้ประดิษฐานอยู่ที่วิหารหลวงวัดมหาธาตุ เมืองสุโขทัย ครั้นสุโขทัยสิ้นฐานะราชธานี พระวิหารหลวงก็ถูกทิ้งร้างทรุดโทรมและปรักหักพังลง องค์พระถูกทิ้งกรำแดดทรุดโทรม รัชกาลที่ ๑ จึงให้อัญเชิญลงมาบูรณะแล้วประดิษฐานเป็นพระประธานในวัดสุทัศน์ ล่วงมารัชกาลที่ ๔ จึงได้ถวายพระนามให้พระพุทธรูปว่า พระศรีศากยมุนี

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๑๐



พระพุทธรูปทองโบราณ วัดหงษ์รัตนาราม ราชวรวิหาร

เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ วัสดุทองคำผสมโลหะ ศิลปะสมัยสุโขทัย หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๑ นิ้ว สูง ๓ ศอก ๗ นิ้ว ประดิษฐานในศาลาตรีมุข วัดหงษ์รัตนาราม ราชวรวิหาร บางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ พระสุขุมธรรมาจารย์ เจ้าอาวาสวัดหงษ์ฯ ได้สำรวจวิหารเก่าที่ถูกทิ้งรกร้างหลังพระอุโบสถ ได้พบพระพุทธรูปหลายองค์ พระพุทธรูปองค์หนึ่งมีรอยปูนกะเทาะ เห็นโลหะทองสุกเหลืองอร่าม จึงอัญเชิญมาที่ศาลาตรีมุขและกะเทาะปูนออกหมด ได้พบพระพุทธรูปทองคำผสมโลหะมีพุทธลักษณะสมัยสุโขทัย เป็นปฏิมากรรมที่งดงามยิ่ง สันนิษฐานว่าได้ถูกอัญเชิญมาจากทางเหนือในสมัยรัชกาลที่ ๑

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๐๙



พระพุทธชินสีห์ วัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร

เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัยผสมเชียงแสน วัสดุสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง ๕ ศอก ๑ คืบ ๔ นิ้ว ประดิษฐานเป็นพระประธานภายในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร ราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

พระพุทธรูปองค์ที่อยู่ด้านหน้า คือ พระพุทธชินสีห์ องค์ด้านหลังคือ พระสุวรรณเขตหรือหลวงพ่อเพชร (หรือหลวงพ่อโต)

พระพุทธชินสีห์สร้างขึ้นในสมัยสุโขทัยเป็นพระพุทธรูปโบราณร่วมสมัยกับพระพุทธชินราช เดิมประดิษฐาน ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๓ ได้อัญเชิญมาประดิษฐาน ณ วัดบวรฯ

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๐๘


พระพุทธมารวิชัย อภัยปรปักษ์ อัครพฤกษ์โพธิภิรมย์ อภิสมพุทธบพิตร

พระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิ ปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย วัสดุโลหะนาก หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๑ คืบ ประดิษฐานในพระวิหารทิศตะวันออก วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

เดิมประดิษฐานที่สวรรคโลก รัชกาลที่ ๑ ให้อัญเชิญลงมากรุงเทพ บูรณะปฏิสังขรณ์แล้วบรรจุพระบรมธาตุ ถวายพระนามว่า "พระเจ้าตรัสในควงไม้มหาโพธิ " ต่อมา รัชกาลที่ ๔ จึงถวายพระนามว่า "พระพุทธมารวิชัย อภัยปรปักษ์ อัครพฤกษ์โพธิภิรมย์ อภิสมพุทธบพิตร"

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๐๗


พระพุทธชินศรีมุนีนาถ อุรคอาสนบัลลังก์ อุธธังทิศภาคนาคปรก ดิลกภพบพิตร

พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย วัสดุสัมฤทธิ์ลงรักปิดทอง หน้าตักกว้าง ๓ ศอก ๑๐ นิ้ว ประดิษฐานในพระวิหารทิศตะวันตกมุขหน้า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

เดิมมีนามว่า "พระพุทธชินศรี" ประดิษฐานในวัดร้างเมืองสุโขทัย รัชกาลที่ ๑ จึงให้อัญเชิญลงมากรุงเทพพร้อมกับ "พระชินราช" ต่อมา รัชกาลที่ ๔ ถวายพระนามให้ว่า "พระพุทธชินศรีมุนีนาถ อุรคอาสนบัลลังก์ อุธธังทิศภาคนาคปรก ดิลกภพบพิตร"

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๐๖


พระพุทธชินราช วโรวาทธรรมจักร อัครปฐมเทศนา นราศภบพิตร

พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย วัสดุสัมฤทธิ์หน้าตักกว้าง ๔ ศอก ๕ นิ้ว ประดิษฐานในพระวิหารฝั่งทิศใต้มุขหน้าวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

เดิมเป็นพระประธานในวัดร้างเมืองสุโขทัย ชื่อว่า "พระชินราช" รัชกาลที่ ๑ ให้อัญเชิญลงมาประดิษฐานที่วัดพระเชตุพนฯ เบื้องหน้าพระพักตร์ของพระพุทธรูป เป็นปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั่งอยู่ รัชกาลที่ ๑ ให้บรรจุพระบรมธาตุทั้งในองค์พระประธานและพระปัญจวัคคีย์

ต่อมารัชกาลที่ ๔ ได้ถวายพระนามพระพุทธรูปว่า พระพุทธชินราช วโรวาทธรรมจักร อัครปฐมเทศนา นราศภบพิตร

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๐๕


พระพุทธโลกนาถ ราชมหาสมมติวงศ์ องค์อนันตญาณสัพพัญญู สยัมภูพุทธบพิตร

พระพุทธรูปปางห้ามญาติ ศิลปะอยุธยา วัสดุโลหะปิดทอง สูง ๒๐ ศอก ประดิษฐานในพระวิหารทิศตะวันออก มุขหลัง ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

มีนามเดิมว่า "พระโลกนาถศาสดาจารย์" ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา เดิมประดิษฐานในวัดพระศรีสรรเพชญ์ในพระราชวังอยุธยา ต่อมาเกิดความเสียหายหักพังในคราวเสียกรุง

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๓๒ รัชกาลที่ ๑ สร้างวัดพระเชตุพนฯ จึงให้ อัญเชิญจากวัดพระศรีสรรเพชญ์ ลงมาพระนครแล้วบูรณะปฏิสังขรณ์ บรรจุพระบรมธาตุแล้วประดิษฐานในพระวิหารวัดพระเชตุพนฯ

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๐๔



พระพุทธไสยาส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

เป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ มีความยาว ๑ เส้น ๒ วา ๒ ศอก ( ๙๐ ศอก) วัสดุปูนปั้นปิดทอง ประดิษฐานในวิหารพระพุทธไสยาส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

พระพุทธไสยาสน์นี้ได้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นการสร้างพระพุทธไสยาสขึ้นมาก่อน แล้วจึงสร้างพระวิหารครอบองค์พระไว้ในภายหลัง ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธไสยาส ซึ่งเป็นพระพุทธรูปที่ก่ออิฐ ถือปูน ปิดทองทั่วทั้งองค์ และมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของประเทศ โดยมีลักษณะพิเศษ ได้แก่ พระบาทซ้ายและขวาซ้อนเสมอกัน โดยที่พระบาทประดับมุกภาพมงคล ๑๐๘ ประการ ตรงกลางเป็นรูปจักรตามตำรามหาปุริสลักขณะ

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๐๓


พระพุทธเทวปฏิมากร วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร

พระพุทธเทวปฏิมากร เป็นพระประธานในอุโบสถวัดพระเชตุพน ฯ ศิลปะอยุธยา ปางสมาธิ ขนาดหน้าตัก ๕ ศอก คืบ ๔ นิ้วหรือ ๖๒ นิ้ว สูงถึงพระรัศมี ๗๙ นิ้ว วัสดุ สำริดลงรักปิดทอง เดิมเป็นพระประธานอยู่ที่ วัดศาลาสี่หน้า (วัดคูหาสวรรค์ปัจจุบัน) แขวงจังหวัดธนบุรี

เมื่อรัชกาลที่ ๑ สร้างวัดโพธาราม ให้เป็นวัดใหญ่สำหรับพระนคร และได้ขนานนามใหม่ว่า วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม จึงได้เลือกหาพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงามสมควรเป็นพระประธานในพระอุโบสถของวัด จึงได้พบและเลือกพระพุทธรูปองค์นี้จากวัดศาลาสี่หน้า ดังกล่าว

และเมื่อครั้งสร้างพระอุโบสถแล้วเสร็จ จึงให้อัญเชิญองค์พระประธานจากวัดศาลาสี่หน้าธนบุรี มาบูรณะแล้วประดิษฐานเป็นพระประธาน ได้ทรงทำพิธีบรรจุพระบรมธาตุแล้วถวายพระนามว่า "พระพุทธเทวปฏิมากร"

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๐๒


พระพุทธสิหิงค์ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานในพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ ในบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติพระนคร พระพุทธรูปองค์นี้ได้ถูกอัญเชิญจากเชียงใหม่ลงมายังกรุงเทพ ฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๘

พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปหล่อหุ้มทองปางสมาธิ ตามประวัติกล่าวว่า พระเจ้ากรุงลังกาองค์หนึ่งได้สร้างขึ้นไว้ ต่อมาเจ้านครศรีธรรมราชได้ไปขอมาถวายพระร่วงแห่งกรุงสุโขทัย เมื่อพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แห่งกรุงศรีอยุธยาได้กรุงสุโขทัยเป็นเมืองขึ้น จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานที่กรุงศรีอยุธยา

ต่อมาได้มีผู้นำไปไว้ที่ เมืองกำแพงเพชร และที่เชียงราย เมื่อพระเจ้าแสนเมืองมา เจ้านครเชียงใหม่ ยกทัพไปตีเมืองเชียงรายได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาประดิษฐานที่เชียงใหม่ พร้อมกับพระแก้วมรกต เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตีเมืองเชียงใหม่ได้ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๐๕ ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาประดิษฐานที่วัดพระศรีสรรเพชญ์ กรุงศรีอยุธยาเป็นเวลา ๑๐๕ ปี เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ ชาวเชียงใหม่ซึ่งสมัยนั้นยังอยู่ข้างพม่า ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับไปที่เชียงใหม่

เมื่อมณฑลพายัพได้กลับมาเป็นของไทย ในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท(ทองมา) จึงได้ให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๘ โดยประดิษฐานอยู่ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระบวรราชวัง

พระพุทธปฏิมาสยาม ๐๐๑


พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต) วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามประวัติกล่าวว่าพระพุทธรูปองค์นี้ เทวดาสร้างถวายพระอรหันต์องค์หนึ่ง มีนามว่า พระนาคเสนเถระ แห่งเมืองปาตลีบุตร ในอินเดีย พระนาคเสน ได้อธิษฐานอาราธนาพระบรมสารีริกธาตุ ของสมเด็จพระสัมมนาสัมพุทธเจ้า ให้ประดิษฐานอยู่ในองค์พระแก้วมรกต ๗ พระองค์ คือ ในพระโมฬี พระนลาฏ พระอุระ พระอังสาทั้ง ๒ ข้าง พระชานุทั้ง ๒ ข้าง

ต่อมาพระแก้วมรกตได้ตกไปอยู่ที่เมืองลังกา เมืองกัมโพชา เมืองศรีอยุธยา เมืองละโว้ เมืองกำแพงเพชร และเมืองเชียงราย ตามลำดับ เจ้าเมืองเชียงรายได้เอาปูนทาแล้วลงรักปิดทอง นำไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ที่เมืองเชียงราย เพื่อซ่อนเร้นจากศัตรู

เมื่อ พ.ศ. ๑๙๗๙ เกิดฟ้าผ่าที่องค์เจดีย์ ชาวเมืองได้เห็นพระพุทธรูปปิดทองปรากฎอยู่ คิดว่าเป็นพระพุทธรูปศิลาทั่วไป จึงได้อัญเชิญไปไว้ในวิหารในวัดแห่งหนึ่ง ต่อมาปูนที่ลงรักปิดทองได้กะเทาะออกที่ปลายพระนาสิก เห็นเป็นเนื้อแก้วสีเขียว จึงได้แกะปูนออกทั้งองค์ จึงพบว่าเป็นพระพุทธรูปแก้วทึบทั้งองค์(พระแก้วมรกต) ผู้คนจึงพากันไปนมัสการ พระเจ้าสามฝั่งแกน เจ้าเมืองเชียงใหม่ จึงจัดกระบวนไปอัญเชิญพระแก้วมรกตมาเชียงใหม่ แต่ช้างที่ใช้อัญเชิญได้หันเหไปทางลำปางถึงสามครั้ง จึงต้องยอมให้อัญเชิญ"พระแก้วมรกต"ไปประดิษฐานที่ นครลำปางถึง ๓๒ ปี (ที่วัดพระแก้ว)

เมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๑ พระเจ้าติโลกราชครองเมืองเชียงใหม่ ได้อัญเชิญพระแก้วมรกต มาประดิษฐานที่เมืองเชียงใหม่ เป็นเวลา ๘๔ ปี ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๔ พระเจ้าไชยเชษฐา โอรสพระเจ้าโพธิสาร ซึ่งเป็นพระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต (เวียงจันทน์) ได้ครองเมืองเชียงใหม่ต่อจากพระอัยกา ครั้นเมื่อพระเจ้าโพธิสารทิวงคต ทางกรุงศรีสัตนาคนหุต จึงเชิญพระเจ้าไชยเชษฐา กลับไปเมืองหลวงพระบาง จึงได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย เมื่อ พ.ศ. ๒๐๙๕ และได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองหลวงพระบาง ๑๒ ปี ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๗ ได้ย้ายราชธานีไปอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ และได้อัญเชิญพระแก้วมรกตไปด้วย พระแก้วมรกต จึงได้ประดิษฐานอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์อีก ๒๑๔ ปี...

เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๑ รัชกาลที่ ๑ ขณะที่ดำรงตำแหน่งเป็น สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกได้ยกกองทัพไปตีเมืองเวียงจันทน์ และได้อัญเชิญ "พระแก้วมรกต" พร้อมกับพระบาง มายังกรุงธนบุรี ได้ประดิษฐานไว้ ณ โรงพระแก้วในบริเวณพระราชวังเดิม

ต่อมาเมื่อขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ จึงได้สั่งให้ประดิษฐานพระแก้วมรกต ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๗ พระแก้วมรกต นับเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ คู่บ้านคู่เมือง